สพป.สกลนคร เขต 1 แก้ปัญหา Learning Loss จัดทำ MOU ร่วมกับผู้บริหารสถานศึกษา เร่งรัดพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนภาษาไทย

สพป.สกลนคร เขต 1 แก้ปัญหา Learning Loss จัดทำ MOU ร่วมกับผู้บริหารสถานศึกษา เร่งรัดพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนภาษาไทย
.
วันที่ 10 ตุลาคม 2567 ดร.สท้าน วารี ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสกลนคร เขต 1 เป็นประธานในพิธีลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ มาตรการเร่งรัดพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนภาษาไทย ตามนโยบาย “เด็กไทยวิถีใหม่ อ่านออกเขียนได้ทุกคน” ปีการศึกษา 2567 – 2568 โรงเรียนในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสกลนคร เขต 1 โดยมี ดร.นันท์ปภัทร บรรณ์ติเจริญโชติ รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสกลนคร เขต 1 กล่าวรายงาน ดร.ชรินดา พิมพบุตร และ นางสาวรัญญ์สิรินทร์ ธีราภัทรคุณางกูร รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสกลนคร เขต 1 ร่วมเป็นเกียรติ ผู้บริหารสถานศึกษาในสังกัดทุกแห่ง ร่วมพิธี ณ ห้องประชุมไทสกล อาคารนิเทศ ชั้น 1 สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสกลนคร เขต 1 อำเภอเมืองสกลนคร จังหวัดสกลนคร
.
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสกลนคร เขต 1 ตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาคุณภาพการศึกษา จึงกำหนดแนวทางพัฒนาคุณภาพการศึกษาของเขตพื้นที่การศึกษาว่า “โรงเรียนน่าอยู่ คุณครูพากเพียร ผู้เรียน มีความสุข” เพื่อนำไปสู่เป้าหมายของกระทรวงศึกษาธิการ คือ “เรียนดี มีความสุข” ทั้งนี้ ได้มีมาตรการให้สถานศึกษาปลอดนักเรียนอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ โดยความร่วมมือกับสถานศึกษาดำเนินการโดยมีกรอบข้อตกลงความร่วมมือ ดังนี้
1) สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสกลนคร เขต 1 ดำเนินการตรวจสอบและคัดกรองนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จัดทำข้อมูลสารสนเทศ นิเทศ กำกับติดตามและให้ความช่วยเหลือสถานศึกษา ตามความจำเป็นเร่งด่วน พร้อมทั้งรายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานต่อสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานทุกภาคเรียน
2) สถานศึกษาในสังกัด ดำเนินการทุกวิธีที่จะให้นักเรียนในความรับผิดชอบทุกคนมีความสามารถด้านภาษาไทย โดยถือเป็นนโยบายปฏิบัตินักเรียนที่จบชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ต้องอ่านออก เขียนได้ทุกคน (ไม่นับรวมเด็กพิเศษเรียนรวม) สถานศึกษาต้องจัดทำแผนพัฒนาคุณภาพการอ่านการเขียน สร้าง และสรรหาสื่อ นวัตกรรมที่หลากหลาย จัดกิจกรรมการเรียนรู้ “ซ่อมเด็กอ่อน กระตุ้นเด็กกลาง เสริมเด็กเก่ง” ตลอดจนสร้างภาคีเครือข่าย องค์กรภายนอก ชุมชน ผู้ปกครองให้มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาให้อ่านออก เขียนได้ร่วมกับสถานศึกษา
3) นิเทศ กำกับ ติดตาม ตรวจสอบพัฒนาการของนักเรียนอย่างเป็นระบบ อย่างต่อเนื่อง และรายงานผล การพัฒนาและความก้าวหน้าต่อสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสกลนคร เขต 1 ตามวันเวลาที่กำหนด
.
ทั้งนี้ ในปีการศึกษาที่ผ่านมา โรงเรียนในสังกัดยังมีการแก้ไขปัญหานักเรียนที่มีภาวะถดถอยทางการเรียนรู้ (Learning Loss) ทำให้การพัฒนาคุณภาพการศึกษาไม่บรรลุเป้าหมายที่วางไว้ ซึ่งการพัฒนาการอ่านออกเขียนได้ถือเป็นทักษะที่สำคัญในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา เพื่อให้ผู้เรียนสามารถใช้การอ่านการเขียนเป็นเครื่องมือในการเรียนรู้วิชาอื่น ๆ และสามารถดำเนินชีวิตได้อยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข
ข้อมูลโดย กลุ่มนิเทศ ติดตามและประเมินผลการจัดการศึกษา
ภาพและข่าวโดย งานประชาสัมพันธ์
ภาพทั้งหมด https://photos.app.goo.gl/sCS3k7qikgV7PUw26
Scroll to Top